Site MapContact Us
Cart Buy Now or Call 02-402-6117, 02-402-8107
081-359-6920
Search

สูตรลับ : การแสวงหาโอกาสกลยุทธ์การตลาด SMEs

         วิกฤติเศรษฐกิจในปัจจุบันส่งผลกระทบต่อธุรกิจทุกระดับทั่วโลก ธุรกิจ SMEs จำนวนมากของประเทศไทยก็เช่นกันที่ต้องประสบปัญหาจากวิกฤติการณ์นี้ อาทิ ยอดขายสินค้าและบริการลดลง ปริมาณสินค้าคงเหลือเพิ่มขึ้น การผลิตไม่เต็มที่ พนักงานว่างงานเพิ่มขึ้น รวมไปจนถึงสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน การทำให้ธุรกิจ SMEs สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ต้องอาศัยกลยุทธ์ที่เหมาะสม ทั้งกลยุทธ์การบริหารจัดการองค์กรเพื่อช่วยให้องค์กรปรับตัวได้ตามสภาพเศรษฐกิจ และกลยุทธ์การตลาดเพื่อกระตุ้นผู้บริโภคให้เกิดการซื้อหรือใช้สินค้าและบริการอย่างต่อเนื่องจนธุรกิจ SMEs สามารถเติบโตต่อไปได้ การกำหนดกลยุทธ์ต่าง ๆ ของทุกองค์กรต้องเริ่มจากการสำรวจตัวองค์กรเองก่อน เพื่อวิเคราะห์หาจุดแข็ง จุดอ่อนขององค์กร (ปัจจัยภายใน) และโอกาส อุปสรรคในการดำเนินธุรกิจ (ปัจจัยภายนอก) หรือเรียกว่า SWOT Analysis ซึ่งช่วยให้ทราบถึงสถานะและศักยภาพในการแข่งขันขององค์กร หากวิเคราะห์แล้วพบว่า

1. องค์กรมีจุดแข็งมากกว่าจุดอ่อน และมีโอกาสเอื้อต่อการทำธุรกิจให้เติบโตมากขึ้นกว่าเดิมได้ องค์กรควรใช้จุดแข็งขององค์กรสร้างความได้เปรียบจากโอกาสที่มี เช่น การเป็นเจ้าของผู้จำหน่ายปัจจัยการผลิต (Supplier) การเป็นเจ้าของผู้จัดจำหน่าย (Distributor) การเป็นเจ้าของคู่แข่ง (Competitor) เป็นต้น

2. องค์กรมีโอกาสในการทำธุรกิจ แต่ยังพบจุดอ่อนขององค์กรมากกว่าจุดแข็ง องค์กรควรแก้ไขจุดอ่อนเพื่อสร้างความได้เปรียบจากโอกาสที่มี เช่น การลดค่าใช้จ่าย ลดการลงทุน หยุดการขยายตัวชั่วคราว เป็นต้น

3. องค์กรมีจุดแข็งแต่มีอุปสรรคในการทำธุรกิจมาก จึงไม่เอื้อต่อการทำธุรกิจในอนาคต องค์กรควรนำจุดแข็งที่มี
มาลดหรือหลีกเลี่ยงอุปสรรคต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น เพื่อเปลี่ยนอุปสรรคให้เป็นโอกาสในการดำเนินธุรกิจ เช่น การดำเนินตามกลยุทธ์เดิมที่ประสบความสำเร็จ การปรับเป้ายอดขายหรือกำไรตามสภาวะเศรษฐกิจ เป็นต้น

4. องค์กรกำลังประสบปัญหาทั้งภายในและภายนอก องค์กรควรลดขนาดขององค์กร หรือ รวมกิจการที่มีอยู่เข้าด้วยกัน หรือรวมเข้ากับธุรกิจที่สามารถดำเนินกิจการได้ เพื่อให้สามารถพัฒนาจุดแข็งขององค์กร หรืออาจใช้การลดค่าใช้จ่าย การควบกิจการ การขายหรือเลิกกิจการ เพื่อให้ธุรกิจสามารถดำเนินต่อไปได้
เมื่อองค์กรได้ปรับกลยุทธ์การบริหารจัดการภายในองค์กรแล้ว กลยุทธ์การตลาดที่สามารถนำมาเสริมเพื่อพัฒนาด้านการตลาด ได้แก่

  • ปรับด้านการตลาด เช่น ลดกิจกรรมทางการตลาดที่กำไรน้อย ป้องกันตลาดที่มีอนาคตหรือสามารถเติบโตได้ ขยายตลาดเพิ่มขึ้นด้วยการแสวงหาตลาดใหม่ที่เหมาะสม เป็นต้น
  • ปรับด้านลูกค้า เช่น ลดหรือเลิกทำธุรกิจกับลูกค้าที่มีปัญหา หรือไม่ทำกำไร ลดราคาหรือเพิ่มมูลค่าเพื่อรักษาลูกค้าที่ดีไว้ เพิ่มการดูแลลูกค้าใหม่ เป็นต้น
  • ปรับด้านผลิตภัณฑ์ เช่น ลดหรือเลิกผลิตผลิตภัณฑ์และบริการที่แข่งขันไม่ได้ รักษาคุณภาพของผลิตภัณฑ์ที่ทำกำไร เป็นต้น
  • ปรับด้านราคา เช่น คงราคาเดิมแต่เพิ่มส่วนลดหรือผลประโยชน์ให้กับลูกค้า ไม่ควรลดราคาครั้งละมาก ๆ เป็นต้น
  • ปรับด้านช่องทางการจำหน่า เช่น ลดค่าใช้จ่ายแต่ละช่องทาง ลดช่องทางจำหน่ายที่ไม่จำเป็น ใช้ช่องทางที่เข้าถึงลูกค้าได้ง่ายและเร็วที่สุด เน้นลูกค้าเป้าหมายเป็นอันดับแรก เป็นต้น

     นอกจากการดำเนินธุรกิจแบบเน้นการอยู่รอดขององค์กรเพียงอย่างเดียวแล้ว การปรับตัวอย่างรวดเร็ว การเลือกใช้กลยุทธ์การตลาดอย่างมีประสิทธิภาพ และการดำเนินธุรกิจแบบมีจรรยาบรรณ จะช่วยให้ทุกองค์กรสามารถต่อสู้วิกฤติต่าง ๆ ที่ผ่านเข้ามาและเติบโตขึ้นจนประสบความสำเร็จได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน 

 

 ที่มา : http://www.crmtothai.com/index.php?option=com_content&task=view&id=1890&Itemid=80

   
Company
News